การแต่งงานตามประเพณีไทยนั้น จะค่อนข้างมีรายละเอียดมากมาย โดยเริ่มตั้งแต่ฝ่ายชายนำผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า "เถ้าแก่" ไปสู่ขอฝ่ายหญิง ซึ่งถ้าผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงตอบตกลงแล้ว ก็จะนำวันเดือนปีเกิดของทั้งสองฝ่าย ไปให้ผู้รู้ดูฤกษ์ยาม เพื่อกำหนดวันที่จะทำพิธี ตลอดจนจัดหาสถานที่รับจัดงานแต่งงาน หรือจะทำพิธีแต่งงานที่บ้านของเจ้าสาวก็ได้
เมื่อถึงวันที่กำหนด ผู้ใหญ่ทางฝ่ายชายก็จะจัดตั้งขบวนขันหมาก ไปยังบ้านของฝ่ายหญิงเพื่อที่จะทำการสู่ขอตามประเพณี
ประเพณีการแห่ขันหมาก
เมื่อขบวนขันหมากเคลื่อนมาถึงประตูบ้านของฝ่ายหญิง ทางผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงก็จะออกไปรับ พร้อมกับเด็กถือพานเชิญขันหมาก โดยผู้ใหญ่ทางฝ่ายหญิงมักจะถามว่า “วันนี้ฤกษ์งานยามดี พวกท่านมาด้วยกิจอันใด” ผู้ใหญ่ทางฝ่ายชายจะตอบว่า “วันนี้ฤกษ์งานยามดีได้นำแก้วเข้ามาเกย จะนำเอาเขยมาฝาก จะนำเอาขันหมากเข้ามาให้ หากไม่ขัดข้องขอให้รับไว้ด้วย”
เพื่อความเป็นสิริมงคล และให้ผู้ที่มาร่วมงานเป็นสักขีพยาน พ่อแม่เจ้าสาวจะเปิดขันหมาก ให้ทุกคนที่ร่วมพิธีได้ดูกันทั่ว และจะทำการตรวจนับสินสอด แล้วโปรยข้าวตอกดอกไม้ ซึ่งก็คือพิธีปูเรียงสินสอดอย่างที่เรารู้จักกัน และหลังจากนั้นแม่เจ้าสาวก็จะนำผ้าห่อเงินสินสอดแบกใส่บ่า แล้วนำไปเก็บ (ให้ทำท่าหนักๆ)
เมื่อพ่อแม่เจ้าสาวรับสินสอดไปแล้ว ผู้ใหญ่พร้อมด้วยเจ้าบ่าวและเพื่อนๆ ก็จะไปทำการรับตัวเจ้าสาวที่ห้องของเจ้าสาว พร้อมด้วยดอกไม้ ขณะที่จะไปที่ห้องเจ้าสาว ก็จะต้องผ่านประตูเงิน ประตูทองเป็นระยะๆหรือที่เรียกว่า การกั้นประตูเงิน ประตูทอง ซึ่งเข้าใจว่า น่าจะเป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความครึกครื้น ให้แก่งานพิธีมงคลสมรสตามประเพณีไทย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น